ในปัจจุบันการศึกษาไทยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาและเยาวชนเพื่อให้ได้มาตราฐานเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยในแต่ละปี ผลที่ออกมามักอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แม้ประเทศไทยจะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูมีผลงานดีได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาของเด็กไทยยังมีการประเมินว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจวิเคราะห์ได้ว่า น่าจะมาจากหลายประการ อาทิเช่น การขาดสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ขาดเทคโนโลยีทางด้านการศึกษา ขาดบุคลากรทางด้านการศึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง การมีสื่อหรื่อสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการยั่วยุ ไปในทางที่ผิดๆ และรวมไปถึงปัญหาทางด้านครอบครัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้นักเรียนไม่เข้าใจบทเรียนอย่างแท้จริง เรียนท่องจำ ให้ทำข้อสอบผ่าน เมื่อผ่านไปอีกภาคการศึกษาหนึ่ง เกิดปัญหาลืมบทเรียนที่จบไปแล้ว อาจเป็นเพราะนักเรียนไม่เข้าใจว่า บทเรียนนั้นนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างไร จึงทำให้นักเรียนไม่สามารถเชื่อมต่อความรู้เป็นภาพใหญ่ภายใต้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่จะทำให้การเรียนต้องมีความสนุก ดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ การเข้าถึงสิ่งที่จะพบในอนาคตด้วย การเชื่อมโยงการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและผสานความรู้เข้ากับวิชาอื่น ๆ โดยไม่แยกออกเป็นรายวิชา มีการเรียนรู้ ทำโครงงานจากสถานการณ์ปัญหาในชีวิตจริง (Project based Learning) เน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาต่อไป